บอร์ดบีโอไอเผยคลอดมาตราการดันSMEเต็มรูปแบบ

บอร์ดบีโอไอเผยคลอดมาตราการดันSMEเต็มรูปแบบ

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ธ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,462 view

 

                                    

 

           วันนี้(18ธ.ค.60)นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย หรือ เอสเอ็มอีโดยให้ขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2562 จากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2560 รวมทั้งได้เห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขในการขอรับส่งเสริม ประกอบไปด้วย

1.การขยายขอบข่ายประเภทกิจการที่ให้ส่งเสริมตามมาตรการนี้ ให้ครอบคลุมกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเปิดให้สามารถขอรับการส่งเสริมได้ในเกือบทุกประเภทกิจการรวมจำนวนกว่า 100 ประเภท ซึ่งจากเดิมกำหนดไว้เพียง 40 ประเภทกิจการ พร้อมทั้งให้มีการผ่อนปรนเงื่อนไขเป็นกรณีพิเศษให้แก่กิจการเอสเอ็มอีในบาง ประเภท

2. การให้สิทธิและประโยชน์ทางภาษีแก่กิจการเอสเอ็มอี แบ่งออกเป็น2 ส่วน คือ (1)สิทธิและประโยชน์พื้นฐาน และ (2) สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติม

1.สิทธิและประโยชน์พื้นฐานที่กำหนดตามประเภทกิจการให้ได้รับการเพิ่มเติม วงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเกณฑ์ปกติร้อยละ 100 เป็นร้อยละ 200 ในประเภทกิจการที่อยู่ในข่ายได้รับยกเว้นภาษีเงินได้1.สิทธิและประโยชน์ เพิ่มเติมให้ได้รับสิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนอากรเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์ พื้นฐานใน 2 กรณี คือ

- กรณีมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเช่น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการให้ผ่อนปรนเงื่อนไขสัดส่วนเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายให้ลดลงจาก เกณฑ์ปกติครึ่งหนึ่งเพื่อให้เอสเอ็มอีใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้ได้ง่ายขึ้น หรือ

-กรณีที่ตั้งกิจการใน 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำหากเป็นประเภทกิจการในกลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษี เงินได้ 8 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี และหากเป็นประเภทกิจการในกลุ่มอื่นจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม เติม 3 ปีจากสิทธิและประโยชน์พื้นฐาน

นอกจากนี้กิจการเอสเอ็มอีที่ได้รับส่งเสริม สามารถนำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมได้ บางส่วน ในมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท อีกด้วย

           นางสาวดวงใจกล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้กำหนดประเภทกิจการเป้าหมายใน “เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ”ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation หรือ EECi ) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd)

           โดยในส่วนของ EECi ได้กำหนดประเภทกิจการเป้าหมายให้สอดคล้องกับ 6 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่กระทรวงวิทยาศาสตร์กำหนดไว้ ประกอบด้วย 1.เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ2. แบตเตอรี่-ประสิทธิภาพสูงและยานยนต์สมัยใหม่ 3. การบินและอวกาศ 4. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ5. ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 6.เครื่องมือแพทย์โดยแบ่งประเภทกิจการเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มกิจการด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงกิจการที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ที่เกี่ยวข้องกับ 6 อุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้น เช่น กิจการบริการออกแบบทางวิศวกรรม กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ กิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) และกิจการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายเป็นต้น

2.กลุ่มกิจการผลิตหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับ 6 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขต EECi เช่น กิจการประกอบหุ่นยนต์ หรือ อุปกรณ์อัตโนมัติ การผลิตหรือให้บริการระบบเกษตรสมัยใหม่ กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง (High Value-added Software) กิจการผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือผลิตภัณฑ์จากพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

สำหรับกิจการเป้าหมายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กำหนดกิจการเป้าหมายเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มกิจการด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงกิจการที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ กิจการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) และกิจการพัฒนา Digital Technology เป็นต้น

2.กลุ่มกิจการด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลเช่นกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้าง มูลค่าเพิ่มสูง (High Value-added Software) กิจการ Cloud Service กิจการ Data Center และกิจการให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) เป็นต้น

ทั้งนี้ ตามมติคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 โครงการลงทุนในกิจการเป้าหมายที่ตั้งในพื้นที่ EECi และ EECd จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ (รวมสิทธิประโยชน์เดิมเกิน 8 ปีได้) และลดหย่อนอีกร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยต้องดำเนินการตามเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรตามที่กำหนด

            ทั้งนี้ตามที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับพื้นที่อีอีซีกำหนดให้ภาค เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยจะต้องมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หรือศูนย์ความเป็นเลิศ ตามรูปแบบที่กำหนดนั้น  คณะกรรมการให้ความเห็นชอบกับรูปแบบความร่วมมือฯ เพิ่มเติม ได้แก่ โครงการอาชีวะพิเศษในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกซึ่งจะเน้นการพัฒนา บุคลากรตามความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงได้หลังจบ การศึกษาตามโครงการนี้ บริษัทจะร่วมงานโดยตรงกับสถาบันการศึกษา ในการร่วมกันรับนักศึกษา  และร่วมกันกำหนดหลักสูตร โดยจะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่นักศึกษา เช่น ค่าเล่าเรียน เงินเดือนนักศึกษา  เป็นต้น รวมถึงการรับนักศึกษาไปฝึกงานและการรับนักศึกษาเข้าทำงานหลังสอบผ่านหลัก สูตรของโครงการด้วย

              เลขาฯ บีโอไอ ยังมีความมั่นใจว่าตัวเลขคำขอลงทุนจะเป็นไปตามเป้าในปี 2560 ที่วางไว้ 6 แสนล้านบาท โดยตัวเลขคำขอ 9 ล่าสุด อยู่ที่ 376,000 ล้านบาท เป็นคำขอที่ลงทุนในพื้นที่ EEC  104,164 ล้านบาท จำนวน229 โครงการ โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับในที่ประชุมอยากให้ช่วยเหลือ SME ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น ซึ่งเลขาฯบีโอไอเชื่อว่า มาตราการที่ออกมาในวันนี้ จะช่วยให้ช่วยเหลือ SME ภาคการเกษตรมาเพิ่มคำขอมากขึ้น

 

อ้างอิง http://www.tnnthailand.com/news_detail.php?id=156829&t=news