ภาคใต้เวียดนาม: โอกาสทองการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน

ภาคใต้เวียดนาม: โอกาสทองการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ม.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 942 view

             ภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ของเวียดนามต่างมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม บริเวณดังกล่าวมีแสงอาทิตย์เฉลี่ยตั้งแต่ 1,900-2,900 ชั่วโมง/ปี และมีความเข้มของแสงอาทิตย์สูงเฉลี่ย 4-5 กิโลวัตต์/ตารางเมตร โดยจังหวัดนินห์ถ่วน เป็นจังหวัดที่มีความเข้มของแสงอาทิตย์สูงสุด และเป็นพื้นที่ที่มีโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับอนุมัติมากที่สุดในประเทศคือกว่า 27 โครงการ ศักยภาพการผลิตประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ รองลงมาคือจังหวัดบินห์ถ่วน และจังหวัดอื่น ๆ เช่น ฟู้เอียน เต็ยนินห์ คั้นห์กว่า กว๋างหงาย และด่งนาย เป็นต้น

             ในส่วนของพลังงานลม เวียดนามได้รับการประเมินจากธนาคารโลกว่ามีศักยภาพในการพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานลมถึง 27 กิกะวัตต์ ณ ระดับความเร็วลม 7-9 เมตร/ วินาที ที่ระดับความสูง 65 เมตร โดยปัจจุบันมีโครงการไฟฟ้าพลังงานลมที่ได้รับการอนุมัติและดำเนินการผลิตแล้ว 7 โครงการ ศักยภาพ การผลิตเพียง 197    เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดนินห์ถ่วนและบากเลียว นอกจากนี้จังหวัดที่มีศักยภาพลมสูง อาทิ จ่าวินห์ บิ่นห์ถ่วน เบ๊นแจ และก่าเมา ด้วยศักยภาพดังกล่าว จึงทำให้รัฐบาลเวียดนามกำหนดให้จังหวัดนินห์ถ่วนเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศ

             แผนแม่บทด้านพลังงานเวียดนามปี 2559-2563 กำหนดให้มีการพัฒนาขีดความสามารถการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 850 เมกะวัตต์ภายในปี 2563 และ 4,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 ในส่วนของพลังงานลม ตั้งเป้าหมายการผลิตที่ 800 เมกะวัตต์ในปี 2563 และ 2,000 และ 6,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 และ 2573 ตามลำดับ ทั้งนี้ปัจจุบันมีโครงการไฟฟ้าพลังงานลมที่เริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์แล้วเพียง 5 โครงการ ศักยภาพรวม 190 เมกะวัตต์ (หรือคิดเป็น 24% ของเป้าหมาย 800 เมกะวัตต์)

             ด้วยศักยภาพและแผนแม่บทข้างต้น ทำให้ปัจจุบันมีเอกชนไทยให้ความสนใจเข้ามาลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามค่อนข้างมากประมาณ 5-6 บริษัท ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยเฉพาะในเขตกงสุลทางภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ ล่าสุดได้มีการลงทุนโครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่จังหวัดฟู้เอียน โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทรายใหญ่แห่งหนึ่งของไทยและเวียดนาม มูลค่า 35.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีศักยภาพการผลิต 257 เมกะวัตต์ และได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement-PPA) ระยะเวลา 20 ปี กับการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) แล้ว คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2562

             ทั้งนี้ หากรวมกับการลงทุนโครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่บริษัทแห่งนี้ ได้ลงนามความตกลงร่วมทุนก่อนหน้านี้ ซึ่งมีกำลังการผลิต 420 เมกะวัตต์ ก็จะทำให้เป็นการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในเวียดนามและอาเซียน

             สำหรับพลังงานลมนั้น ในปีที่ผ่านมาก็มีการลงทุนของบริษัทจากไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งหากรวมการลงทุนเข้าด้วยกันแล้วมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าถึง 420 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อรองรับกระแสการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

             เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 รัฐบาลเวียดนามได้ผ่านข้อมติหมายเลข 115 ขยายระยะเวลาการรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ราคา 9.35 cent/kWh ในจังหวัดนินห์ถ่วน จากวันที่เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date - COD) ออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 และปรับใช้กับสัญญาซื้อขายพลังงาน (PPA) เป็นระยะเวลา 20 ปี สำหรับศักยภาพการผลิตจำนวน 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยนายกรัฐมนตรีเวียดนาม แต่ข้อมติหมายเลข 115 นี้ ครอบคลุมเฉพาะโครงการเดิมที่อนุมัติโดยนายกรัฐมนตรีเวียดนามแล้วเท่านั้น ซึ่งตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม มีโครงการที่ได้รับอนุมัติและบรรจุเข้าไปในแผนพลังงานของจังหวัดแล้วกว่า 1,900 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ข้อมติดังกล่าว ไม่ครอบคลุมถึงโครงการในอนาคตและโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็กที่อนุมัติโดยจังหวัด (ศักยภาพการผลิตตํ่ากว่า 50 เมกะวัตต์)

             เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้อนุมัติคำสั่งหมายเลข 39 มีสาระสำคัญคือการปรับ FiT พลังงานลมจาก 7.8 cent/kWh เป็น 8.5 cent/kWh และ 9.8 cent/kWh สำหรับการผลิตบนชายฝั่งและนอกชายฝั่งตามลำดับ โดยต้องเป็นโครงการที่ COD ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ปรับให้สัญญาซื้อขายพลังงาน (PPA) เป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าศึกษาและเสนอกลไกพิเศษในการพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ด้านพลังงานลมและเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ดังกล่าวภายในเวียดนามด้วย โดยโครงการต่าง ๆ จะเริ่มก่อสร้างได้ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการลงนามใน PPA ความตกลงการสร้างสายส่งและจ่ายไฟฟ้า และส่งรายงานการวัดความเร็วลมย้อนหลัง 12 เดือนแล้วเท่านั้น

             ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนก็ควรพิจารณาทั้งโอกาสและความท้าทายควบคู่กันไป ทั้งในด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน สาระสำคัญของ PPA ประเด็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์