นางสาวรุจิกร แสงจันทร์ รักษาการอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคไทย เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย ประจำปี 2567 (APEC Concluding Senior Officials’ Meeting: CSOM) ณ กรุงลิมา เปรู

นางสาวรุจิกร แสงจันทร์ รักษาการอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคไทย เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย ประจำปี 2567 (APEC Concluding Senior Officials’ Meeting: CSOM) ณ กรุงลิมา เปรู

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 พ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 พ.ย. 2567

| 103 view
เมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2567 นางสาวรุจิกร แสงจันทร์ รักษาการอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคไทย เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย ประจำปี 2567 (APEC Concluding Senior Officials’ Meeting: CSOM) ณ กรุงลิมา เปรู เพื่อสรุปการดำเนินงานของเอเปค ในปี 2567 และเตรียมการสำหรับสัปดาห์การประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 35 (14 พฤศจิกายน 2567) และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 (15 - 16 พฤศจิกายน 2567)
 
ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการจัดทำผลลัพธ์สำคัญของการประชุมเอเปค ประจำปี 2567 ได้แก่ ถ้อยแถลงอิชมาว่าด้วยมุมมองใหม่ในการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Ichma Statement on a New Look to advance the Free Trade Area of the Asia-Pacific) และแผนงานลิมาเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลกของเอเปค (Lima Roadmap to Promote the Transition to the Formal and Global Economy) โดยเอกสารทั้ง 2 ฉบับจะได้รับการรับรองโดยผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ในโอกาสนี้ ที่ประชุมยังได้รับรองรายงานเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2567 (2024 APEC Economic Policy Report- AEPR) ภายใต้หัวข้อการปฏิรูปโครงสร้างและความครอบคลุมทางการเงิน (Structural Reform and Financial Inclusion) ด้วยแนวคิดว่า การเข้าถึงบริการด้านการเงินเป็นโอกาสสำคัญในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวได้รวบรวมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของทุกคน โดยเฉพาะสตรี วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) และผู้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ใช้ (untapped economic potential) ซึ่งรวมถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย
 
ในการประชุมดังกล่าว ไทยชื่นชมบทบาทนำของเปรูในการผลักดันผลลัพธ์ของการประชุมเอเปค ประจำปี 2567 ซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และมีนวัตกรรม รวมทั้งได้ขอบคุณสมาชิกเอเปคที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on BCG Economy) และ APEC BCG Award ซึ่งจะประกาศผลผู้ชนะทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ สตรี เยาวชน และ MSMEs ในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) โดยเสนอให้เอเปคเพิ่มความร่วมมือในการผนวกประเด็นการค้าและความยั่งยืน การกระชับความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงทางดิจิทัล (digital connectivity) ธรรมาภิบาล AI และเพิ่มการหารือแนวนโยบายในการรับมือกับสังคมสูงวัย (aging society) ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ