กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศตามรอยวิถีชุมชนคาร์บอนต่ำและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ณ จังหวัดเพชรบุรี

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศตามรอยวิถีชุมชนคาร์บอนต่ำและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ณ จังหวัดเพชรบุรี

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 ก.ย. 2567

| 162 view

        ในโอกาสที่ยูเนสโก หรือ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  ได้ประกาศให้จังหวัดเพชรบุรีเป็น 1 ใน 49 เมืองเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (Creative Cities Network of Gastronomy) ประจำปี 2564 กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (Thai Ecotourism and Adventure Travel Association : TEATA) จัดกิจกรรมนำคณะข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ศึกษาดูงานเพื่อติดตาม   การจัดการท่องเที่ยวและบริการแบบยั่งยืนของชุมชนต่าง ๆ ใน จ. เพชรบุรี ซึ่งมีการดำรงชีวิตตามวิถีชุมชนคาร์บอนต่ำและพัฒนามูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนและ การท่องเที่ยวด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ณ จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 13 – 15 กันยายน 2567 โดยคณะได้เยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำชุมชน/องค์กรท้องถิ่นที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ

  • การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่ยุ้งเกลือ อ.บ้านแหลม
  • การจัดการท่องเที่ยววิถีชุมชนสวนตาลและแหล่งเรียนรู้ห้องเรียนธรรมชาติ ณ บ้านไร่กร่าง อ.บ้านลาด
  • การจัดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ณ ชุมชนบ้านถ้ำเสือ อ.แก่งกระจาน ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำตามแนวทาง BCG Model
  • การฟื้นฟูและพัฒนาวนอุทยานเขานางพันธุรัตและชุมชนโดยรอบ ซึ่งเคย เสื่อมโทรมจากผลกระทบของอุตสาหกรรมระเบิดหิน
  • การเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ของชุมชนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในเขตเมืองเก่าเพชรบุรี เช่น ชุมชนวัดเกาะ ถนนพานิชย์เจริญ วัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นต้น

        กิจกรรมดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้เข้าใจพัฒนาการและความพร้อมของการจัดการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำและการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สอดคล้องกับกระแสความต้องการของตลาดโลกที่ให้ความสำคัญต่อการลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ และการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภารกิจขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกและการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยต่อไป

        กิจกรรมในครั้งนี้ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ชดเชยคาร์บอนเครดิตได้ถึง 7 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (คำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์โดยโปรแกรมคำนวญองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยลดคาร์บอนฟุตพรินท์จาก 4 แหล่ง ได้แก่ การเดินทาง ที่พัก อาหารและเครื่องดื่ม และขยะ เช่น การเดินทางด้วยรถโดยสารไฟฟ้า การใช้ขวดน้ำดื่มใบเดิม (refill) การเลือกเมนูอาหารท้องถิ่นใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล และการเลือกที่พักที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมตลอดโครงการ เป็นต้น

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม:

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ