เจาะลึกเศรษฐกิจเมืองน้ำหอมช่วงวิกฤตหนี้ยุโรป และโอกาสการค้าการลงทุนของไทย

เจาะลึกเศรษฐกิจเมืองน้ำหอมช่วงวิกฤตหนี้ยุโรป และโอกาสการค้าการลงทุนของไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ม.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 6,172 view

เจาะลึกเศรษฐกิจเมืองน้ำหอมช่วงวิกฤตหนี้ยุโรป และโอกาสการค้าการลงทุนของไทย


กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ
http://www.thaieurope.net อีเมล์ [email protected]



             ตลอดช่วงปี 2554 ที่ผ่านมา ประเทศฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไม่สามารถรอดพ้นจากผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุโรปได้ โดยล่าสุด เป็นประเทศในยูโรโซนล่าสุดที่ได้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง 

             รัฐบาลฝรั่งเศสต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการว่างงานที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 9.9 และการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดต่าง ๆ  เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่ยังคงสูงถึงร้อยละ 85.5 ของ GDP หรือประมาณ 6.65 หมื่นล้านยูโร 

             นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังมีภาระที่จะต้องช่วยแบกรับหนี้จำนวนมหาศาลของกรีซ รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปอีกด้วย

             นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ปี 2555 เศรษฐกิจฝรั่งเศสจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และจะเผชิญกับการหดตัวของกำลังซื้อของประชาชน เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศที่จะตัดลดรายจ่ายภาครัฐลงอีกประมาณ 45 พันล้านยูโรใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP 

             อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของฝรั่งเศสน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2556 - 2558 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

             แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในภาพรวมของฝรั่งเศสในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา จะค่อนข้างซบเซาลง แต่การที่ภาคเอกชนฝรั่งเศสยังคงเดินหน้าแสวงหาตลาดและพันธมิตรทางการค้าที่มีศักยภาพในต่างประเทศซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาคเอกชนของฝรั่งเศสยังคงมีความเข้มแข็งทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน 

             ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่ไม่ควรมองข้ามและควรเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยการสานต่อความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจการค้าที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่คณะนักธุรกิจฝรั่งเศสมาเยือนไทย และแสดงความสนใจที่จะร่วมลงทุนในด้านต่างๆ กับฝ่ายไทยเพิ่มขึ้น

             การที่ภาวะเศรษฐกิจฝรั่งเศสอ่อนตัวลงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพที่จะเข้าสู่ตลาดของฝรั่งเศสด้วย โดยที่ผ่านมาภาคเอกชนไทยได้เข้าไปลงทุนซื้อกิจการในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น เช่น บริษัท Thai Union Frozen Products PCL ได้ซื้อกิจการอาหารทะเลกระป๋องของบริษัท MW Brands ของฝรั่งเศส เมื่อปี 2553 ด้วยเงินลงทุน 680 ล้านยูโร และเมื่อเดือนธันวาคม 2554 บริษัท ปตท. พีทีที โกลบอล เคมีคอล (มหาชน) จำกัด ได้ลงนามสัญญาซื้อหุ้นในอัตราร้อยละ 51 จากบริษัท Perstorp Holding France SA ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต และเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต Isocyanate ที่มีบทบาทสำคัญในยุโรปและเอเชีย เป็นต้น

             ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้ก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะสะดุดกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและส่งผลต่อกำลังซื้อบ้าง  จากสถิติปี 2554  มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับฝรั่งเศสมีรวมประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ถึงร้อยละ 30.70 โดยไทยส่งออกไปฝรั่งเศสมูลค่า 1,750.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากฝรั่งเศสมูลค่า 2,053.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า

             สินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของไทย ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เลนซ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และข้าว ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์จากพืช 

             นอกจากนี้ ภาคเอกชนของฝรั่งเศสยังยืนยันความสนใจที่จะเข้ามาร่วมทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง และมีเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนขนาดใหญ่ในสาขาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในประเทศไทยด้วย

             นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของคำโบราณที่ว่า ในวิกฤติยังมีโอกาส!