สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕

สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ส.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 6,031 view

สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] หรือ [email protected]

 

 

            สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ร่วมกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆของญี่ปุ่น อาทิ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจแห่งญี่ปุ่น หรือ Japan Center for Economic Research (JCER) สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจของญี่ปุ่นประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ได้ดังนี้
Real GDP ของญี่ปุ่นปรับตัวลดลงเล็กน้อย ร้อยละ ๐.๕ จากเดือนเมษายน ๒๕๕๕ เนื่องจาก การส่งออกที่ลดลงร้อยละ ๒.๓ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปยังประเทศจีน ในขณะที่การบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ ๐.๔ เป็นผลมาจากนโยบายการให้เงินสนับสนุนในการซื้อรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การลงทุนโดยภาครัฐฟื้นตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ ๗ อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ ทั้งนี้ การส่งออกน่าจะยังชะลอตัวไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจยูโรโซน และเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง

            ในขณะที่ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นเอง กลับมองเศรษฐกิจญี่ปุ่นในเชิงบวกมากขึ้น โดยมองว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะยังไม่ดีขึ้นขึ้นจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจยูโรโซนและปัญหาอื่นๆ แต่ราคาน้ำมันดิบที่ลดลง รวมถึงการแข็งค่าของเงินเยนน่าจะสามารถทำให้สภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นได้
สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ อยู่ที่ร้อยละ ๔.๔ ซึ่งถือว่าดีขึ้น อันเนื่องมาจากการฟื้นฟูประเทศจากเหตุภัยพิบัติ ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึงกว่า ๒ เท่า โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง

            โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจญี่ปุ่นน่าจะฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งการลงทุนโดยภาครัฐและเอกชนเองก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมไปถึงการส่งออกที่เริ่มขยายตัว อันเนื่องมาจากการแข็งค่าของเงินเยนที่เริ่มคลายตัวลง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงจำเป็นต้องจับตาดูความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจของต่างประเทศ โดยเฉพาะจากวิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซน ซึ่งยังคงทำให้เศรษฐกิจโลกไม่มีเสถียรภาพอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

            ทั้งนี้ ประเทศไทยเองก็น่าจะได้รับผลดีจากเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยเฉพาะจากการที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะกระจายการค้าและการลงทุนในยูโรโซนเพื่อลดความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซน และหันไปส่งออกและลงทุนในภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะเอเชียมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม