ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC)

ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC)

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ม.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 32,992 view

        ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ BIMSTEC: Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation

ภูมิหลัง 
        BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง ๗ ประเทศในอ่าวเบงกอล ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา และไทย BIMSTECเกิดขึ้นจากการริเริ่มของไทย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ภายใต้ชื่อ  BIST-EC (Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation) ต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็น BIMSTEC เป็นการเชื่อมสานนโยบาย Look East ของกลุ่มประเทศเอเชียใต้และนโยบาย Look West ของไทย มีประชากรรวมประมาณ 1,500 ล้านคน ปัจจุบัน   เมียนมาร์ ดำรงแหน่งประธาน BIMSTEC เว็บไซต์เป็นทางการ www.bimstec.org (ปัจจุบันมีปัญหาทางเทคนิคและกำลังดำเนินการจัดตั้งเว็บไซต์ใหม่)
        BIMSTEC เป็นกรอบเดียวที่เชื่อมเอเชียใต้เข้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยที่ไทยและ เมียนมาร์เป็นประเทศอาเซียน 2 ประเทศที่เป็นสมาชิก BIMSTEC ทำให้ไทยอยู่ในสถานะเป็นสะพานเชื่อมโยงอนุภูมิภาคทั้งสองและเป็นกลไกหนึ่งที่ไทยสามารถขยายความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย โดยเอเชียใต้เป็นตลาดขนาดใหญ่ มีแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรที่สำคัญต่างๆ อยู่มาก อาทิ ก๊าซธรรมชาติ และศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และอินเดียจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่งในอนาคต
        BIMSTEC มีสาขาความร่วมมือของ BIMSTEC มี 14 สาขา ประกอบด้วย 1. การค้าและการลงทุน 2. เทคโนโลยี 3. คมนาคม 4. พลังงาน 5. ท่องเที่ยว 6. ประมง 7. เกษตร 8. สาธารณสุข 9. การจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ 10. การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ 11. การลดความยากจน 12. วัฒนธรรม 13. ปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน 14.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผลการดำเนินการที่สำคัญ
การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 1
        ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 ณ กระทรวงการต่างประเทศ ที่ประชุมได้รับรองเอกสารปฏิญญาผู้นำ BIMSTEC ซึ่งกำหนดให้เรียกชื่อใหม่ของการรวมกลุ่มในกรอบนี้ว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลว่าด้วยความร่วมมือหลากหลายสาขาทางเทคนิคและเศรษฐกิจ หรือ BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic cooperation)
        ปฏิญญาฯ เน้นถึงวัตถุประสงค์และหลักการในการก่อตั้ง BIMSTEC ซึ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของภูมิภาคเพื่อใช้ประโยชน์จากความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ และเร่งรัดให้มีการดำเนินความร่วมมือในสาขาที่มีอยู่เดิม 6 สาขา และระบุถึงสาขาความร่วมมือสาขาใหม่ๆ อาทิ สาธารณสุข การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น การศึกษา การพัมนาชุมชนชนบท วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง การก่อสร้าง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ การวิจัยสภาพอากาศและภูมิอากาศและการขจัดและจัดการปัญหาภัยธรรมชาติ
        ปฏิญญาฯ ให้ความสำคัญกับการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี BIMSTEC เพื่อให้สามารถบรรลุผลโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดความร่วมมือเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนปัญหาข้ามชาติอื่นๆ เช่นโรคเอดส์ และโรคระบาดร้ายแรงอื่นๆ รวมทั้งเน้นถึงความสำคัญที่ต้องเร่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน บทบาทภาคเอกชน โดยตกลงให้มีการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน โดยใช้ BIMSTEC Business Travel Card และหรือ/ BIMSTEC Visa

การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 2
        อินเดียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 ณ กรุงนิวเดลี อินเดีย ไทยได้แสดงความยินดีที่มีความก้าวหน้าในสาขาความร่วมมือที่สำคัญ เช่น การจัดตั้ง BIMSTEC Energy Centre ที่อินเดีย / BIMSTEC Centre for Weather and Climate ที่อินเดีย / BIMSTEC Cultural Industries Commission และ BIMSTEC Cultural Industries Observatory ที่ภูฏาน / จัดทำ BIMSTEC Convention on Cooperation in Combating International Terrorism, Organized Crime and Illicit Drug Trafficking

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ BIMSTEC ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2554 ณ เนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์

  • เห็นชอบให้บังกลาเทศเป็นประเทศที่ตั้งของสำนักเลขาธิการถาวร BIMSTEC และให้ศรีลังกาเสนอชื่อบุคคลเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ BIMSTEC คนแรก
  • รับทราบข้อเสนอของไทยในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ development partner อาทิ ADB และ UNESCAP ใน BIMSTEC
  • ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC
  • เร่งรัดการเจรจา Agreement on Trade in Goods ภายใต้ BIMSTEC FTA
  • เร่งรัดให้มีการประชุม Expert Groups ด้านคมนาคม 5 สาขา เพื่อจัดทำแผนการดำเนินการตามข้อเสนอในการศึกษาด้านคมนาคม (BTILS) ของ ADB
  • เมียนมาร์เสนอจะจัดการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 3 ในปี 2554 (แต่การประชุมต้องเลื่อนออกไปหลายครั้งเนื่องจากประเทศสมาชิกสะดวกไม่ตรงกัน) และเนปาลรับจะเป็นประธาน BIMSTEC ต่อจากเมียนมาร์หลังการประชุมผู้นำดังกล่าว

การลงนามความตกลง / การจัดตั้งศูนย์ต่างๆ ใน BIMSTEC

  • การลงนาม (1) ความตกลงการค้าสินค้า (2) พิธีสารแก้ไขกรอบความตกลง FTA (3) ความตกลงเรื่องกลไกระงับข้อพิพาท (4) ความตกลงเรื่องความร่วมมือด้านศุลกากร ในการประชุมรัฐมนตรี การค้าและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 6 บังกลาเทศจะเป็นเจ้าภาพ (ปัจจุบันยังขาดตารางข้อผูกพันภาษีที่จะแนบท้ายร่างความตกลงในส่วนของศรีลังกา ทำให้การดำเนินการยังไม่มีความคืบหน้า)
  • MOA for Establishment of BIMSTEC Centre for Weather and Climate โดยคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบร่างตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอและอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามหรือรับรองร่างแล้ว
  • MOU เพื่อจัดตั้ง BIMSTEC Cultural Industries Observatory (BCIO) และ BIMSTEC Cultural Industries Commission (BCIC) โดยคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบร่างตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอและอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามหรือรับรองร่างแล้ว
  • การจัดตั้ง BIMSTEC Poverty Alleviation Centre ที่บังกลาเทศ (ที่ประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 10 เห็นชอบแล้ว แต่ยังไม่คืบหน้า)
  • การจัดตั้ง BIMSTEC Technology Transfer / Exchange Facilities  ศรีลังกาได้ยกร่าง MOA on the Establishment of the BIMSTEC Technology Transfer Facility เวียนให้ประเทศสมาชิกพิจารณา ในส่วนของไทยได้แจ้งความเห็นต่อร่างดังกล่าวให้ศรีลังกาแล้ว และขอให้ศรีลังกาเวียนร่างที่ปรับแก้ไขแล้วให้ประเทศสมาชิกพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
  • MOU for the BIMSTEC Grid Interconnection อินเดียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 5th Task Force Meeting on Trans Power Exchange เพื่อพิจารณาร่าง MOU ดังกล่าว แต่ยังคงมีบางประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อยุติ
  • การให้สัตยาบัน BIMSTEC Convention on Cooperation in Combating International Terrorism, Transnational Organized Crime and Illicit Drug Trafficking ปัจจุบันมีเพียงอินเดียและบังกลาเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว ในส่วนของไทยกำลังดำเนินการตามกระบวนการภายใน
  • การจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวร BIMSTEC ณ กรุงธากา ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 23 - 24 พฤศจิกายน2554 ณ กรุงธากา ได้เห็นชอบร่าง MOA การจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวร BIMSTEC และเมียนมาร์จะจัดให้มีการลงนาม MOA ดังกล่าวในระหว่างการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ ๓ (ในส่วนของไทย ครม. ได้พิจารณาอนุมัติการลงนามร่างความตกลงดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556)
  • ร่างอนุสัญญา BIMSTEC Convention on Mutual Assistance in Criminal Matters ประชุมคณะทำงานย่อยว่าด้วยประเด็นด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายภายใต้กรอบ BIMSTEC ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 20 – 21 ธันวาคม 2555  ณ กรุงนิวเดลี ได้รับการรับรองโดยคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 7 - 8 พฤษภาคม 2556 ที่ศรีลังกา

สถานะล่าสุดการประชุมผู้นำ

  • เมียนมาร์เสนอวันจัดประชุมผู้นำครั้งที่ ๓ การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 14 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 16 ให้ประเทศสมาชิกพิจารณาหลายครั้งแต่การประชุมต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากประเทศสมาชิกสะดวกไม่ตรงกัน ล่าสุดเมียนมาร์ได้เสนอวันจัดประชุมผู้นำและการประชุมที่เกี่ยวข้องใหม่ระหว่าง 1 – 4 มีนาคม 2557 ณ เนปิดอว์

ความคืบหน้าการดำเนินงานในสาขาความร่วมมือทั้ง 14 สาขา

1. สาขาการค้าและการลงทุน
2. สาขาการคมนาคมและการสื่อสาร
3. สาขาพลังงาน
4. สาขาเทคโนโลยี
5. สาขาการท่องเที่ยว
6. สาขาประมง
7. สาขาเกษตรกรรม
8. สาขาวัฒนธรรม
9. สาขาสาธารณสุข
10. สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ
11. สาขาการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ
12. สาขาการลดความยากจน
13. สาขาปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน
14. สาขาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

***************************************

กองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

มกราคม 2557