วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ธ.ค. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 พ.ย. 2565
กลุ่มประเทศ CLMV ที่ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ขึ้นมาครองตำแหน่งประเทศเนื้อหอมในภูมิภาคเป็นที่หมายตาของนักลงทุนต่างชาติทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียน เพราะมีศักยภาพรอให้นักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาแสวงหา อาทิ ความต้องการโครงสร้างพื้นฐาน สินค้าสำหรับการก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค และเครื่องจักรกล ประเทศไทยที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของเมียนมามายาวนานจึงควรตระหนักถึงศักยภาพของเมียนมาและรีบหาลู่ทางการลงทุนก่อนที่นักลงทุนต่างชาติจะชิงโอกาสนั้นไป
ประเทศไทยได้เปรียบประเทศนอกภูมิภาคตรงทำเลที่ตั้งอยู่ตรงกลางของกลุ่มประเทศ CLMV และมีโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงภายในภูมิภาคอย่างระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก รวมถึงความเชื่อมั่นของชาวเมียนมาที่มีต่อสินค้าไทย ปัจจัยเหล่านี้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะฉวยความได้เปรียบนี้ในการขยายการค้าการลงทุนไปในตลาดเนื้อหอมก่อนประเทศยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ผู้ประกอบการที่ยังลังเลในการตัดสินใจลงทุนในเมียนมา ลองพิจารณา 3 ปรากฎการณ์น่าจับตามองที่ทูตไทยประจำเมียนมาอยากถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการไทยได้ลองพิจารณาเพื่อให้เห็นศักยภาพของเมียนมา และเป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจเข้าไปทำการค้าการลงทุนอย่างเต็มตัวในเมียนมา
“เมียนมา” ก้าวขึ้นเป็นจุดหมายการค้าการลงทุนสุดฮอต หลังสหรัฐฯ ประกาศจะยกเลิกการคว่ำบาตรเมื่อไม่นานมานี้ และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนามในคำสั่งยกเลิกการคว่ำบาตรเมียนมาอย่างเป็นทางการ นับเป็นสัญญาณปลดล็อคการค้าการลงทุนในเมียนมาให้กับนักลงทุนสหรัฐฯ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการทั่วโลก ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม เพราะเมียนมาเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงและเป็นตลาดแห่งโอกาสของผู้ประกอบการไทย
โครงสร้างพื้นฐานของเมียนมาพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษจ้าวพิว เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา
เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาเป็นการร่วมทุนระหว่างเมียนมาและญี่ปุ่น นับเป็นเขตเศรษฐกิจที่โดดเด่นได้เปรียบทางด้านที่ตั้งที่อยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งเพียง 23 กม. มีสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนและศูนย์ให้บริการแบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติให้สามารถขออนุมัติการลงทุนจากรัฐบาลเมียนมาได้ในเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์ จากที่ปกติใช้เวลา 2-3 เดือน ขณะนี้ บริษัทจากต่างชาติกว่า 79 บริษัท อาทิ จากญี่ปุ่น ไทย ไต้หวัน และสิงคโปร์เข้าจับจองพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ไปแล้วกว่า 93% และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่เพื่อดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเพิ่มขึ้น
นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมา มองว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาจะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะ 5 ปีข้างหน้า และเตรียมรับการเกิดของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในอีกไม่เกิน 15 ปี ระหว่างนี้ผู้ประกอบการไทยไม่ควรอยู่เฉย รีบศึกษาข้อมูลการค้าการลงทุนในเมียนมาและวางแผนไว้ให้ดี เพราะเมื่อโครงสร้างพื้นฐานและเขตเศรษฐกิจดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์แล้ว เมียนมาจะกลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับประเทศไทยอย่างแน่นอน
กฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่คาดว่าจะพร้อมบังคับใช้ในปี 2560 โดยจะระบุและแบ่งแยกประเภทธุรกิจที่อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้น 100% ธุรกิจที่ต้องร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น ธุรกิจที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อเมียนมา และธุรกิจที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ผู้ประกอบการไทยควรติดตามกฎหมายฉบับนี้เมื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการเพื่อวางแผนการลงทุนในเมียนมาได้อย่างรอบคอบและรัดกุม รวมถึงเพิ่มความรู้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนที่ควรจะได้รับในเมียนมา
นอกจากจับตาการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แล้ว ท่านทูตแนะให้ผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเมียนมาจาก “ความด้อยศักยภาพ” เป็น “ตลาดแห่งศักยภาพ” เพราะไทยเคยเป็นคู่ค้าสำคัญของเมียนมาตั้งแต่ก่อนเมียนมาจะได้รับยกเลิกการคว่ำบาตร แต่เมื่อนักลงทุนจากทั่วโลกโดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เข้ามาในเมียนมามากขึ้น แม้ไทยจะได้เปรียบทั้งทำเลที่ตั้ง การเชื่อมโยงภายในภูมิภาค และความนิยมของชาวเมียนมาที่มีต่อสินค้าไทย การค้าการลงทุนของไทยในเมียนมากลับมีสัดส่วนลดลง ดังนั้นไทยจึงควรรักษาอันดับการค้าการลงทุนของในดินแดนแห่งนี้ไว้เพราะเมียนมาถือเป็นคู่ค้าและตลาดการลงทุนสำคัญของไทย
ผู้ประกอบการไทยไม่ควรอช้า รีบเข้าไปจับจอง “ที่ยืน” ก่อนในตอนนี้ เพื่อรอโอกาสขยายการลงทุนเมื่อกฎระเบียบการค้าการลงทุน การทำธุรกรรมการเงิน และโครงสร้างพื้นฐานในเมียนมาพร้อม เพราะการเข้าไปหลังเมียนมาพัฒนาอย่างเต็มที่อาจทำให้ท่านไม่ทันขบวนการค้าการลงทุนที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)