รู้จัก “บล็อกเชน” เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกในยุคอินเตอร์เน็ต 2.0 (ตอนที่ 1 )

รู้จัก “บล็อกเชน” เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกในยุคอินเตอร์เน็ต 2.0 (ตอนที่ 1 )

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ธ.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,029 view

          

รู้จัก “บล็อกเชน” เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกในยุคอินเตอร์เน็ต 2.0 (ตอนที่ 1 )

         ปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด อินเตอร์เน็ตกลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาผ่านอุปกรณ์อย่าง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต
หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์พกพา เรียกได้ว่าการใช้งานอินเตอร์เน็ตถูกพัฒนาขึ้นกลายเป็น ยุคอินเตอร์เน็ตเวอร์ชั่น 2.0 ที่ไม่ใช่เพียงการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูลหรือสันทนาการเท่านั้น แต่คือบทบาทของอินเตอร์เน็ตที่ถูกนำไปต่อยอดสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม หนึ่งในเทคโนโลยีด้านอินเตอร์เน็ตที่ได้รับการจับตามองที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกในครั้งนี้คือ “บล็อกเชน” (Blockchain)

 

         นายอเล็กซ์ แทปสก็อตต์ ผู้เขียนหนังสือ “BLOCKCHAIN REVOLUTION: How the Technology Behind Bitcoin is Changing Money, Business, and the World” ร่วมกับ นายดอน แทปสก็อตต์ ได้อธิบายไว้ว่า “บล็อกเชน” เป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยสำหรับข้อมูลที่เปิดเผยได้ โดยมีแนวคิดว่า การสร้างข้อมูลที่ทุกฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกัน จากนั้น นำข้อมูลบันทึกลงในกล่องสี่เหลี่ยมโดยมีข้อมูลเหมือนกันทุกกล่อง (Block) และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันในรูปแบบห่วงโซ่ (Chain) ทำให้บล็อกเชนไม่ต้องผ่านตัวกลางในการส่งข้อมูลอีกต่อไป

 

         ในอดีตการสื่อสารระหว่างคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งนั้นจะต้องมีการเชื่อมต่อผ่านคนกลาง ในที่นี้คือผู้ให้บริการเครือข่ายด้านการสื่อสาร เพื่อที่เราจะสามารถสื่อสารไปยังคู่สายที่ต้องการได้ แต่ปัจจุบันด้วยพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีทำให้เราสามารถสื่อสารโดยตรงไปยังคู่สนทนาทั้งในรูปแบบเสียงหรือข้อความผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ หรือในรูปแบบเครื่องต่อเครื่องที่เรียกว่า P2P (Peer to Peer) ปัจจุบัน พัฒนาการของเทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำมาใช้ในโลกการเงิน

 

 

 
         การทำงานของเทคโนโลยี Blockchain นั้นคือ การทำธุรกรรมต่าง ๆ ถูกบันทึกในบล็อกเหล่านี้แล้ว เราจะไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลใด ๆ ได้ เพราะทุกคนต่างก็มีสำเนาหรือประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดอยู่กับตัว จึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้นหากจะมีใครปลอมแปลงข้อมูลโดยปราศจากการรับรู้จากผู้คนส่วนใหญ่  ระบบการตรวจสอบได้นี้เป็นเครื่องมือสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเทคโนโลยี
 

         ตัวอย่างเช่นในอดีตการทำธุรกรรมทางการเงิน จะต้องอาศัยตัวกลางในการยืนยันความถูกต้องของข้อมูล นั้นก็คือ “ธนาคาร” ในการทำธุรกรรมออนไลน์ ธนาคารก็จะเป็นผู้รับผิดชอบเก็บข้อมูลลูกค้า และตรวจการทำธุรกรรมต่าง ๆ (เป็นผู้ดูแลสัญญานั่นเอง) แต่ระบบ Blockchain คือ คู่ที่ทำธุรกรรมสามารถทำธุรกรรมกันเองได้โดยตรง ผ่านเทคโนโลยี Blockchain สัญญาที่แต่ก่อนธนาคารเป็นผู้ดูแลเพียงคนเดียว ก็จะเปลี่ยนเป็น สัญญาระหว่างคู่ค้าที่จะถูกถือโดยผู้เก็บข้อมูลทุกคนในเซิฟเวอร์  เมื่อมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้น ผู้คนทั้งเซิฟเวอร์ก็จะรับรู้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ตนถืออยู่ เช่นนาย ก จ่ายเงินให้นาย ข โดยมีนาย ค เป็นผู้ดูแลสัญญา แต่ถ้าเป็น Blockchain ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินนี้จะมีข้อมูลของนาย ก และนาย ข เมื่อนาย ก จ่ายเงินให้นาย ข ก็จะถูกรับรู้ทั่วกัน

 

 

         ข้อดีของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน คือ สามารถลดต้นทุนในการเคลื่อนย้ายของเงินได้เพราะไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร เพราะบล็อกเชนสามารถทำธุรกรรมได้โดยตรง ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือในเรื่องของ สกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ “บิทคอยน์” (Bitcoin) ที่นำรูปแบบการทำงานของบล็อกเชนมาใช้งานทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันโดยไม่ผ่านคนกลางง่ายยิ่งขึ้นโดยยังคงไว้ซึ่งความปลอดภัย

 

 

โดยในตอนที่ 2 จะคลายความสงสัยว่าเทคโนโลยี “บล็อกเชน” สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมใดได้บ้าง รวมถึงแนวโน้มที่อาจจะทำให้เทคโนโลยีนี้ไม่เกิดขึ้นในอนาคตและการปรับตัวของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยกับการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีนี้