ขีดแข่งขันเอสเอ็มอีไทยผ่านเกณฑ์ (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์)

ขีดแข่งขันเอสเอ็มอีไทยผ่านเกณฑ์ (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์)

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 พ.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ต.ค. 2565

| 3,207 view

            ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทยอยู่ที่ 59.6 ผู้ประกอบการเห็นว่าสถานการณ์ธุรกิจอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ทุกกลุ่มมีปัญหาจัดการต้นทุน
            นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี ไตรมาส 1 ปี 2556 ซึ่งจัดทำเป็นครั้งแรกและสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,106 ราย ระหว่างวันที่ 23 เม.ย.-10 พ.ค.2556 พบว่าค่าดัชนีอยู่ที่ 59.6 โดยค่าดัชนีสูงสุดอยู่ที่ 100 ถ้าสูงกว่า 50 แสดงว่าผู้ประกอบการเห็นว่าสถานการณ์ธุรกิจอยู่ในเกณฑ์ที่ดีหรือมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น
            ทั้งนี้ ธุรกิจบริการมีค่าดัชนีความสามารถในการแข่งขันสูงสุดที่ 60.9 รองลงมาคือธุรกิจการผลิตอยู่ที่ 59.6 และธุรกิจการค้าอยู่ที่ 58.4 เมื่อพิจารณาแยกตามประเภทธุรกิจพบว่าเอสเอ็มอีในธุรกิจค้าส่งมีค่าดัชนีความสามารถในการแข่งขันสูงสุดที่ 67.2 รองลงมาคือธุรกิจโรงแรมและเกสท์เฮาส์อยู่ที่ 61.5 ส่วนธุรกิจค้าปลีกมีค่าดัชนีต่ำสุดที่ 53.5 และเมื่อพิจารณาเอสเอ็มอีรายภูมิภาคพบว่าเอสเอ็มอีในภาคกลางมีค่าดัชนีความสามารถในการแข่งขันสูงสุดที่ระดับ 65.7 ขณะที่ภาคใต้มีค่าดัชนีต่ำสุดคือ 51.1 เพราะธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยางพาราและประมง ซึ่งปัจจุบันราคายางชะลอตัว และราคาดีเซลที่ทรงตัวระดับสูงมีผลต่อต้นทุนธุรกิจประมง
            นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพการแข่งขันระหว่างประเทศมีค่าดัชนีความสามารถในการแข่งขันสูงสุดที่ 77.2 ขณะที่เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพการแข่งขันระดับตำบลมีค่าดัชนีต่ำสุดที่ 51.4 เอสเอ็มอีระดับตำบลจึงน่าเป็นห่วงและเป็นกลุ่มที่ควรช่วยเหลือก่อน เพราะมีปัญหาด้านต้นทุนส่งผลให้ธุรกิจในภาพรวมดีแต่มีกำไรน้อย ซึ่งการสำรวจมีกลุ่มตัวอย่างเอสเอ็มอีระดับตำบล 30% หรือประมาณ 6 แสนรายจากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด
"เอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องกำไรสุทธิ เพราะมีความสามารถน้อยในการจัดการต้นทุนต่อหน่วย ธุรกิจทุกประเภทที่สอบถามจะมีค่าดัชนีต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่า 50 สถานการณ์ด้านต้นทุนอยู่ในเกณฑ์แย่"
            นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จุดอ่อนของเอสเอ็มอีคือการบริหารต้นทุน การตลาด การจัดการบุคลากรและการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งหอการค้าไทยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาจุดอ่อนของเอสเอ็มอี ถ้ามีระบบบัญชีที่ดีและควบคุมต้นทุนได้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ และขีดความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอีไม่ได้ขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเดียว แต่อยู่ที่การพัฒนาธุรกิจให้มีศักยภาพ

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่: 31 พฤษภาคม 2556
อ้างอิง: http://bit.ly/15gVsHm