อีเอบีซีแนะไทยเร่งทำเอฟทีเออียู (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์)

อีเอบีซีแนะไทยเร่งทำเอฟทีเออียู (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์)

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ต.ค. 2565

| 3,851 view

           "อีเอบีซี"แนะไทยเร่งทำเอฟทีเออียู ดึงเทคโนฯเพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการ ชี้หลังเปิดเออีซี สถานการณ์การแข่งขันในอาเซียนเพิ่มความรุนแรง

           นายรอล์ฟ-ดีเตอร์ ดาเนียล ประธานสมาคมศูนย์ส่งเสริมธุรกิจยูโรเปียน-อาเซียน (EABC) กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนในภาคธุรกิจบริการของสหภาพยุโรปในไทยมีอุปสรรคเกิดขึ้นอย่างมาก กล่าวได้ว่าความน่าสนใจลงทุนอยู่ในภาวะอันตราย เนื่องจากไทยมีกฎระเบียบทางการค้าที่ทำให้การขยายตัวของธุรกิจดังกล่าวไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งอีเอบีซีเห็นว่าประเทศไทยควรจะเปิดเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งจะช่วยแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวได้มาก

           ปัจจุบันไทยได้เปิดโอกาสในธุรกิจบริการให้กับประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ผ่านการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี และยังมีข้อตกลงทางการค้าและพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ดังนั้นไทยควรให้สิทธิดังกล่าวต่อประเทศอื่นๆ ที่เหลืออยู่ด้วยเช่นกัน โดยอุปสรรคเบื้องต้นที่ต้องการให้แก้ไข คือ สิทธิการถือหุ้นของนักธุรกิจต่างชาติ ซึ่งต้องการให้สามารถถือครองได้ในสัดส่วนตั้งแต่มากกว่า 50% จนถึง 100% ตามความเหมาะสม

           ทั้งนี้ หากอุปสรรคทางการค้าธุรกิจบริการได้รับการแก้ไข มั่นใจว่าจะทำให้การเข้ามาลงทุนในไทยของนักธุรกิจชาวยุโรปเพิ่มมากขึ้นในหลากหลายสาขา ซึ่งจะทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีในอนาคต และเป็นแนวทางการพัฒนาธุรกิจไทยให้สามารถแข่งขันในอาเซียนได้ เพราะหลังการเข้าสู่เออีซี เชื่อว่าการแข่งขันในภูมิภาคจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

           อย่างไรก็ตามแม้ว่าขณะนี้ข้อตกลง เอฟทีเอ ระหว่างอียูกับหลายประเทศในอาเซียนมีความคืบหน้าไปมาก เช่น สิงคโปร์ ได้ข้อสรุปแล้ว มาเลเซียกำลังจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ และการเจรจากับเวียดนามมีความก้าวหน้าไปมาก แต่กลุ่มธุรกิจต่างๆก็ยังไม่มีแผนย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ แต่อย่างใด เพราะข้อแตกต่างของแต่ละประเทศมีจุดเด่นต่างกันไป และอีเอบีซีก็มองว่าไทยยังน่าสนใจสำหรับการลงทุน

           นายแดเนียล กล่าวว่า ในส่วนของประเด็นที่ว่าการเกิดขึ้นของเอฟทีเอจะทำให้การเข้าถึงยาของคนไทยยากขึ้นนั้น ขณะนี้อีเอบีซี กำลังรวบรวมข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนเข้าใจ เพราะข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในสังคมไทยได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอีเอบีซีไม่ได้เน้นการศึกษาข้อมูลในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ได้ให้ความสำคัญกับทุกอุตสาหกรรมและภาคบริการทุกสาขาเท่าเทียมกัน

           "อีเอบีซีไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งว่าไทยยังไม่มีความพร้อมการแข่งขันกับสหภาพยุโรป เพราะเอฟทีเอจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการค้าที่เป็นธรรม ไม่ใช่รูปแบบการแข่งขันเพื่อเอาประโยชน์ฝ่ายเดียว"นายแดเนียล กล่าว

           ด้านนางลิน ค๊อก รองประธานสมาคมศูนย์ส่งเสริมยูโรเปียน-อาเซียน และรองประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจประเด็นภาพรวมทางการค้าและการลงทุน กล่าวว่า ผลการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าเมื่อการเจรจาเอฟทีเอได้ข้อสรุปและมีผลบังคับใช้ จะทำให้จีดีพีของไทยเพิ่มขึ้น 0.56% และทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 6.7% มูลค่า 38,000 ล้านบาท

           แนวโน้มธุรกิจบริการของไทยยังล้าหลังอาเซียนหลายประเทศ หากยังไม่แก้ไขกฎระเบียบต่างๆ จะเกิดผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจของไทย ทั้งนี้ ปี 2554 พบว่าธุรกิจบริการของไทยเกี่ยวกับไอที การเงิน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปี 2548 ชี้ให้เห็นว่าศักยภาพธุรกิจบริการของไทยมีแนวโน้มลดลง และสถิติปี 2555 ชี้ว่าอัตราขยายตัวของธุรกิจบริการเทียบภาคการผลิตของไทยอยู่ในระดับเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ขณะที่มาเลเซีย และสิงคโปร์มีสัดส่วนภาคบริการสูงกว่าและใกล้เคียงกับภาคการผลิต

           สำหรับไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของอียู ขณะที่อียูเป็นนักลงทุนรายใหญ่สุดในอาเซียน

           ทั้งนี้ อีเอบีซี เป็นตัวแทนองค์การค้าและหอการค้าทั้งหมด 16 แห่งทั้งในประเทศและในยุโรป มีสมาชิกกว่า 2,000 บริษัทในไทย กระจายตัวในกลุ่มการลงทุนและธุรกิจบริการ 9 กลุ่ม เช่น ยานยนต์ การเงิน อาหารและเครื่องดื่ม โทรคมนาคม ประกันภัย ทรัพย์สินทางปัญญา คมนาคมและขนส่ง พลังงาน สาธารณสุขและเวชภัณฑ์